พระเจ้ามีจริงหรือ โลกที่เราอยู่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญหรือมีผู้สร้าง
ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักใหญ่ที่สุด
1 โครินธ์ 13:13
Facebook Page   

> บทความคริสเตียน > วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์

เทศกาลคริสต์มาสนับว่าเป็นเทศกาลหนึ่งที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ บางคนชอบช่วงเวลานี้เพราะบรรยากาศมีแต่ความสุข สนุกสนาน ไปเดินตามห้างสรรพสินค้าก็มีแต่เพลงคริสต์มาส บางคนชอบเพราะเป็นช่วงฤดูหนาว แม้ว่าส่วนใหญ่ประเทศไทยอากาศจะร้อนก็ตาม แต่ก็มีบางปีที่รู้สึกเย็น ๆ ได้บ้าง บางคนชอบเทศกาลคริสต์มาสเพราะว่าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มีการลดราคาส่งท้ายปี บางคนชอบเพราะจะได้ของขวัญ อีกหลาย ๆ คนชอบเพราะจะได้ร่วมงานรื่นเริงต่าง ๆ ที่จัดเพื่อฉลองคริสต์มาส แต่นี่คือความหมายของวันคริสต์มาสที่เราคิดถึงหรือ? แล้ววันคริสต์มาสควรเป็นเวลาแห่งอะไร?

ใน มัทธิว 2:1 – 23 ได้บอกเรื่องราวเกี่ยวกับคริสต์มาสแรกให้เราได้รู้ และถ้าหากเราดูให้ดีก็จะพบคำตอบว่าผู้คนในคริสต์มาสแรกเขาทำอะไรกัน ในข้อ 2 พวกนักปราชญ์ได้บอกว่า “เราจึงมาเพื่อจะนมัสการท่าน” ในข้อ 8 กษัตริย์เฮโรดก็ได้บอกกับพวกนักปราชญ์ว่า “จงไปค้นหาพระกุมารนั้นเถิด เมื่อพบแล้วจงกลับมาแจ้งแก่เราเพื่อเราจะไปนมัสการท่านด้วย” ในข้อ 11 เมื่อนักปราชญ์พบพระกุมารเยซูแล้ว “จึงก้มลงนมัสการพระกุมารนั้น” จะเห็นได้ว่าผู้คนในยุคแรกนั้นให้ช่วงเวลาคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง “การนมัสการ”

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

ปัจจุบันเราส่วนใหญ่ใช้การร้องเพลงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนมัสการพระเจ้า เราพบเพลงคริสต์มาสมากมายที่ร้องเพลงเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซู แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บางเพลงที่เราชื่นชอบนั้นเนื้อหาไม่ตรงกับที่พระคัมภีร์บันทึกเท่าไร ตัวอย่างเช่น

เพลง silent night แปลเป็นไทยคือ ราตรีสงัด ราตรีสวัสดิ์ ซึ่งถามว่าช่วงเวลาที่พระเยซูประสูติเป็นค่ำคืนที่เงียบสงบจริงหรือ? ใน ลูกา 2:1 บอกว่าจักรพรรดิออกัสตัสสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน ทำให้ทุกคนต่างต้องกลับบ้านเกิดของตนเองเพื่อไปจดทะเบียน นี่จึงเป็นสาเหตุที่โยเซฟและมารีย์ต้องเดินทางจากนาซาเร็ธไปยังเมืองเบธเลเฮ็ม และผู้คนจำนวนมากก็ไปที่นั่นจนไม่มีที่พักในโรงแรม ส่งผลให้พระเยซูต้องประสูติในคอกสัตว์ ในรางหญ้า ค่ำคืนที่พระเยซูประสูติมีคนมากมายขนาดนั้นคงยากที่จะเป็น “ราตรีสงัด ราตรีสวัสดิ์” ได้ แต่ก็ขอบคุณพระเจ้าที่ภายหลังได้มีการแปลเพลงนี้ใหม่เป็น “ยามราตรี ศรีหรรษา” ทำให้มีความหมายสอดคล้องกับพระคัมภีร์มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเพลงอีกเพลงคือ “เราทั้งสามคือพวกโหรา” พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่ามีพวกโหราจารย์หรือนักปราชญ์ที่มาหาพระเยซูแค่ 3 คน แต่บันทึกแค่ว่าคนเหล่านี้ถวายเครื่องบรรณาการแก่พระเยซู 3 อย่าง คือ ทองคำ กำยาน และมดยอบ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีนักปราชญ์มากกว่า 3 คนที่เดินทางมาพบพระเยซูก็เป็นได้

แล้วพวกโหราจารย์หรือนักปราชญ์พวกนี้เป็นใคร? พระคัมภีร์ตอนนี้ได้บอกว่าพวกนักปราชญ์ได้เห็นดวงดาวจากทางทิศตะวันออก จึงได้เดินทางมาหาพระเยซู พวกนักปราชญ์เหล่านี้บางคนเชื่อว่าน่าจะมาจากอาณาจักรเปอร์เซียโบราณหรือประเทศอิหร่านนั่นเอง แล้วทำไมนักปราชญ์เหล่านี้จึงรู้จักและมาหาพระเยซูได้ละ?

ถ้าหากเราย้อนกลับไปในสมัยของดาเนียล เมื่อดาเนียลได้ทำนายพระสุบินของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ พระองค์จึงแต่งตั้งดาเนียลให้เป็นผู้ครอบครองมณฑลทั้งหมดของบาบิโลน และเป็นประธานองคมนตรีของนักปราชญ์ทั้งสิ้นของบาบิโลน (ดาเนียล 2:48) จึงมีการสันนิฐานว่านักปราชญ์กลุ่มที่มาหาพระเยซูนั้นอาจจะรู้เรื่องราวของพระเยซูจากดาเนียลนั่นเอง

การเดินทางของเหล่านักปราชญ์เพื่อมาพบกับพระกุมารเยซูนั้น ทำให้เราเห็นท่าทีในการนมัสการของคนต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. การนมัสการของนักปราชญ์ - การนมัสการที่แท้จริง

พวกโหราจารย์ที่บันทึกในพระคัมภีร์นั้นบางครั้งใช้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “นักปราชญ์” เพราะเป็นคนชนชั้นสูง มีการศึกษาดี และมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ มีฐานะดี จากการบันทึกของคนในสมัยก่อนนั้น พบว่าปกตินักปราชญ์เหล่านี้จะเดินทางกันไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12 คน ดังนั้นจึงเชื่อว่านักปราชญ์ที่เดินทางมาพบพระกุมารเยซูนั้นน่าจะมีมากกว่า 3 คน แต่เป็นกี่คนนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะไม่มีการบันทึกไว้ แต่สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนก็คือ ความตั้งใจจริงของนักปราชญ์กลุ่มนี้ที่ต้องการมานมัสการ “กษัตริย์ของชนชาติยิว” (มัทธิว 2:2) คนเหล่านี้มีความมุ่งมั่นที่จะมาพบพระเยซูให้ได้แม้ว่าจะต้องเดินทางไกล ใช้เวลานานนับปี และการเดินทางระยะทางไกลในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่สะดวกสบาย อาจต้องพบกับอุปสรรคและความลำบากต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญคือเป็นการลงทุนที่สูง เพราะต้องใช้เงินและเวลาในการเดินทางเป็นจำนวนมาก แต่นักปราชญ์กลุ่มนี้เห็นความสำคัญของการมาประสูติของพระเยซู แม้ว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนนับถือศาสนายิวก็ตาม แต่เขาก็รู้ว่ามีบุคคลสำคัญของโลกมาเกิดตามคำพยากรณ์ และสิ่งนี้ก็คุ้มค่าแก่การลงทุนเพื่อให้ได้มานมัสการพระองค์

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

การนมัสการคืออะไร ในภาษาฮีบรูเดิมหมายถึงการน้อมตัวลงหรือการนอนราบไปกับพื้น แสดงถึงการยอมจำนวน ในภาษาอังกฤษโบราณ คำว่านมัสการ (Worship) มาจากคำว่า “Worthiness” หรือ “Worth-ship” หมายถึงการให้คุณค่ากับบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้นการนมัสการก็คือการให้คุณค่า การยอมจำนนและการยกย่องสรรเสริญพระเจ้านั่นเอง นักปราชญ์เหล่านี้เข้าใจการนมัสการเป็นอย่างดี เขาให้คุณค่าต่อการนมัสการเป็นอย่างมากจึงยอมลงทุนเดินทางเพื่อมาพบกับพระกุมารเยซู แล้วเราละ เราให้คุณค่ากับการนมัสการมากน้อยแค่ไหน? เรานมัสการพระเจ้าบนพื้นฐานความสะดวกสบายหรือไม่? เรายอมเสียสละอะไรบ้างเพื่อที่จะได้มานมัสการพระเจ้า? การนมัสการที่แท้จริงต้องมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นและยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่าง ต้องมีการลงทุน

2. การนมัสการของผู้นำทางศาสนา – การนมัสการที่ละเลย

เมื่อกษัตริย์เฮโรดได้ยินพวกนักปราชญ์มาถามว่า “กษัตริย์ของพวกยิว” อยู่ที่ไหน พวกตนต้องการมานมัสการพระองค์ สิ่งนี้ทำให้เฮโรด “วุ่นวายพระทัย” เพราะตัวเฮโรดเองเป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ แต่นักปราชญ์กลับมาถามหากษัตริย์ที่ไม่ใช่ตนเอง เฮโรดคงอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แน่นอน เฮโรดจึงได้ถามพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ซึ่งมีความรู้ทางด้านพระคัมภีร์ดีว่า ในพระคัมภีร์มีบันทึกเกี่ยวกับ “กษัตริย์ของพวกยิว” ไว้ว่าอย่างไร และคำตอบก็อยู่ในมีคาร์ 5:2

“แต่เจ้า เบธเลเฮม เอฟราธาห์ ผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์ จากเจ้าจะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอล ต้นตระกูลของท่านมาจากสมัยเก่า จากสมัยโบราณกาล”

ในพระคัมภีร์มีการพยากรณ์ว่ากษัตริย์ของคนยิวหรือพระเมสสิยาห์ที่จะมานั้น จะเกิดที่เมืองเบธเลเฮม แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี ในนี้จะไม่ได้บอกว่า “เบธเลเฮม” เฉย ๆ แต่จะเป็น “เบธเลเฮม เอฟราธาห์” ทำไมถึงมี 2 เมืองละ?

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

คำตอบก็คือ ในสมัยก่อนนั้นมีเมืองเบธเลเฮมอยู่ 2 เมือง คือ เมืองเบธเลเฮมที่อยู่ในแคว้นเศบูลุน ซึ่งใน โยชูวา 19: 10 – 16 ได้บันทึกตอนจับฉลากแบ่งที่ดินให้กับเผ่าเศบูลุน ซึ่งมีเมืองเบธเลเฮมปรากฏอยู่ในข้อ 15 ด้วย กับอีกอันหนึ่งก็คือเมืองเบธเลเฮมที่อยู่ในแคว้นยูเดีย ซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูมาประสูติ ซึ่งใกล้ ๆ กันจะเป็นเมืองเอฟราธาห์ ดังนั้นมีคาร์จึงได้บันทึกว่า “เบธเลเฮม เอฟราธาห์” เพื่อที่ผู้อ่านจะรู้ว่าเป็นที่ไหน

ลองคิดดูว่าพวกปุโรหิตและธรรมมาจารย์ซึ่งรู้พระคัมภีร์เป็นอย่างดี รู้ว่า “กษัตริย์ของพวกยิว” จะมาบังเกิดที่เบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย ซึ่งห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 9 กิโลเมตร เท่านั้น แต่เขากลับไม่สนใจที่จะแสวงหาพระองค์ ซึ่งผิดกับพวกนักปราชญ์ที่อยู่ห่างไกลเป็นอย่างมาก การรู้พระคัมภีร์เป็นอย่างดีจึงไม่เพียงพอถ้าเราจะนมัสการพระเจ้า อย่ามุ่งหาแต่ข้อมูล แต่ให้เรามุ่งหาบุคคล เหมือนกับเมื่อเราไม่สบาย การหาข้อมูลต่าง ๆ อาจจะทำให้เรารู้มากขึ้น แต่ถ้าอยากหายโรคเราต้องไปหาหมอ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย การอ่านคู่มือกฎหมายก็สู้ไปหาทนายไม่ได้ ดังนั้นอย่าพอใจที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับพระเจ้า หาบทความเกี่ยวกับพระเยซู เพราะแม้ข้อมูลจะทำให้เราพึงพอใจ แต่นั่นยังไม่พอ เราต้องหาบุคคคล นั่นก็คือ เราต้องแสวงหาพระเยซู และนั่นจึงจะเป็นการนมัสการที่แท้จริง

3. การนมัสการของกษัตริย์ – การนมัสการที่ชั่วร้าย

เฮโรดได้เรียกพวกนักปราชญ์เข้ามาหาเป็นการลับ และพยายามสืบถามข้อมูลว่าดวงดาวนั้นเริ่มปรากฏตั้งแต่เมื่อไร เพื่อจะได้รู้ถึงอายุของเด็กที่เกิดมา และเพื่อให้นักปราชญ์เหล่านี้เชื่อใจ เฮโรดจึงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่พวกนักปราชญ์ว่า ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล ให้ไปหาที่เมืองเบธเลเฮมเพราะพระคัมภีร์บอกเอาไว้ และเมื่อหาเจอแล้วให้กลับมาบอกด้วย เพราะตนเองก็อยากจะนมัสการ “กษัตริย์ของพวกยิว” ด้วยเช่นเดียวกัน

คนชั่วใช้คำว่า “นมัสการพระเจ้า” เหมือนกัน คนชั่วก็อาจจะไปโบสถ์เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป แต่แรงจูงใจของเขานั้นมีแต่ความคิดที่ชั่วร้าย เฮโรดไม่ได้ต้องการที่จะยอมจำนนกับ “พระผู้ช่วยให้รอด” ที่จะเกิดมา แต่เขาต้องการปกครอง “พระผู้ช่วยให้รอด” นั้น ถ้าหากเฮโรดสามารถครอบงำ “กษัตริย์ของพวกยิว” ได้ ฐานะกษัตริย์ของเขาก็จะมั่นคงขึ้น แต่ถ้าครอบงำไม่ได้ก็กำจัดเด็กคนนี้ทิ้งเสีย เพื่อที่จะได้ไม่มีใครมาแย่งอำนาจได้

เช่นเดียวกับชีวิตเรา ถ้าพระเยซูไม่ได้เป็นเจ้าชีวิตเรา การนมัสการของเราก็เปล่าประโยชน์ เพราะหัวใจของการนมัสการคือ “การยอมจำนน” ถ้าเราไม่ยอมจำนนเราก็เหมือนกับเฮโรดที่อยากจะปกครองพระเยซูมากกว่าที่จะยอมอยู่ใต้การปกครองของพระองค์

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

เราจะเห็นว่าเมื่อพวกนักปราชญ์ไม่กลับมาหาเฮโรดตามที่ได้ตกลงไว้ เฮโรดจึงได้ “สั่งคนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหมดในบ้านเบธเลเฮม และในบริเวณใกล้เคียงที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา” มัทธิว 2:16 เพราะจากการสอบถามนักปราชญ์ตั้งแต่พบดวงดาวจนถึงเวลานี้ เด็กคนนั้นน่าจะมีอายุประมาณ 2 ขวบ นั่นเอง

และนี่มักเป็นความเข้าใจผิดของละครวันคริสต์มาสที่เด็ก ๆ มักแสดงกันในโบสถ์ ภาพที่เราเห็นในละครก็คือมารีย์กับโยเซฟอยู่กับพระกุมารเยซูที่นอนในรางหญ้า และรอบ ๆ ก็มีคนเลี้ยงแกะ ฝูงแกะ ทูตสวรรค์ และนักปราชญ์ 3 คน มารวมกันอยู่ในที่เดียวเพื่อที่จะนมัสการพระเยซู แต่จากพระคัมภีร์ในตอนนี้จะเห็นว่าพวกนักปราชญ์ไม่ได้เจอพระกุมารเยซูที่คอกสัตว์ แต่เขาเข้าไปในบ้านและพบพระกุมารกับนางมารีย์ (ข้อ 11) และตอนนี้พระเยซูก็ไม่ใช่ทารกแบเบาะอีกต่อไป เพราะสังเกตคำที่มัทธิวใช้เรียกพระเยซูว่า “พระกุมาร” (Young Child) ซึ่งแตกต่างกับ ลูกา 2:16 ที่ใช้คำเรียกพระเยซูว่า Babe (เด็กแรกเกิด) และตอนที่พวกนักปราชญ์มาพบพระเยซูนั้น พระองค์อาจจะมีอายุประมาณ 2 ขวบ ซึ่งน่าจะเดินและพูดได้แล้ว!!

เมื่อเราอ่านเรื่องราวการประสูติของพระเยซูนั้น เราจะเห็นว่ามารซาตานพยายามขัดขวางการบังเกิดของพระเยซูมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมารซาตานนั้นก็รู้พระคัมภีร์ดี รู้ว่ามีการพยากรณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณว่าพระเยซูจะมาบังเกิด หน้าที่ของมันก็คือพยายามขัดขวางการมาของพระเยซู เพื่อให้มนุษย์บนโลกนี้ยังคงจมอยู่ในความบาปต่อไป เพื่อที่จะได้ไม่มีใครรอดจากบึงไฟนรก

แต่พระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าผู้ทรงควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ว่ามารซาตานจะใช้จักรพรรดิออกัสตัสสั่งให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน ทำให้โยเซฟและนางมารีย์ต้องเดินทางจากนาซาเร็ธไปยังเบธเลเฮมซึ่งมีระยะทางเกือบ 160 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางในสมัยก่อนด้วยลาและการเดินเท้าค่อนข้างลำบากมากสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ อีกทั้งยังต้องผ่านเมืองสะมาเรียซึ่งไม่ค่อยชอบคนยิว โอกาสที่นางมารีย์จะแท้งจึงค่อนข้างสูง แต่พระเจ้าของเรายิ่งใหญ่ สามารถใช้แผนการที่ชั่วร้ายของมารทำให้แผนงานของพระองค์สำเร็จได้ พระเจ้าทรงใช้เหตุการณ์นี้ทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ที่พระเมสสิยาห์จะมาเกิดที่หมู่บ้านเบธเลเฮมในแค้วนยูเดีย ซึ่งมีการพยากรณ์ไว้ประมาณ 700 ปี ก่อนหน้านี้

วันคริสต์มาสเป็นเวลาแห่ง …?

พระเจ้าของเรายังเป็นเยโฮวาห์ยิเรห์ พระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมทุกอย่างเพื่อเรา เพราะเมื่อกษัตริย์เฮโรดรู้ว่าพวกนักปราชญ์ได้หลอกตนเอง โดยกลับไปทางอื่น ก็โกรธและสั่งให้ “ฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหมดในบ้านเบธเลเฮม และในบริเวณใกล้เคียงที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา” แต่พระเจ้าได้ใช้ทูตสวรรค์ให้ไปบอกโยเซฟในความฝันก่อนหน้านี้แล้วว่าให้พาพระกุมารหนีไปอียิปต์ (ข้อ 13 – 14) การเดินทางไปอียิปต์และไปอยู่นั่นคงต้องใช้เงินจำนวนมาก ถามว่าโยเซฟซึ่งมีอาชีพช่างไม้จะเอาเงินมากมายขนาดนี้มาจากไหน? คำตอบก็คือจากเครื่องบรรณาการที่เหล่านักปราชญ์มอบให้นั่นเอง เพราะของที่มอบให้พระเยซูคือ ทองคำ กำยาน และมดยอบนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีค่า โยเซฟจึงสามารถออกเดินทางไปอียิปต์ได้ในทันทีโดยไม่ต้องรีรออะไร

เหล่านักปราชญ์นั้นเป็นผู้นมัสการที่แท้จริง พวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะมานมัสการพระเจ้าให้ได้ และเมื่อได้พบกับพระกุมารเยซู เขาก็ก้มกราบลงนมัสการพระองค์ พร้อมมอบเครื่องบรรณาการ 3 อย่าง คือ

ทองคำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นราชวงศ์หรือกษัตริย์ เป็นการยืนยันว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ของคนยิวนั่นเอง

กำยาน เป็นของมีราคาแพงใช้สำหรับนมัสการพระเจ้า เป็นการสื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า

มดยอบ เป็นของใช้สำหรับพิธีศพ (ยอห์น 19:39) เล็งถึงการตายของพระเยซู เป็นการสื่อว่าพระเยซูทรงเป็นมนุษย์

พระเยซูทรงเป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้า และเป็นมนุษย์ ที่เราควรนมัสการ อยากให้เราลองคิดดูว่าเมื่อพระองค์ทรงเป็นทารก นักปราชญ์เหล่านี้ยังให้คุณค่ากับพระองค์มากถึงขนาดเดินทางเป็นแรมปีเพื่อมานมัสการพระองค์ แล้วพระองค์จะไม่มีค่ามากกว่านั้นหรือเมื่อพระองค์ทรงฟื้นพระชนม์ และทรงสถิตอยู่เบื้องขวาพระบิดา พระองค์กำลังจัดเตรียมที่อยู่เพื่อคนที่เชื่อและวางใจในพระองค์ พระเยซูทรงเสียสละพระองค์เองเพื่อเราขนาดนี้ คำถามก็คือ แล้วเราเป็นผู้นมัสการพระเจ้าแบบไหน?

“อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย เพราะว่าในวันนี้ พระผู้ช่วยให้รอดของพวกท่านคือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้ามาประสูติที่เมืองของดาวิด” ลูกา 2:10


ถ้าหากสนใจอยากรู้เรื่องราวของการเป็นคริสเตียน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน หรือถ้าหากมีคำถามก็สามารถเมลมาสอบถามได้ที่ christiansiam@gmail.com

ค้นหาความจริง

เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน

เกี่ยวกับเรา

เว็บสยามคริสเตียน (Siam Christian) เป็นเว็บส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู คริสเตียน หรือคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศไทย หากท่านมีคำถามหรือมีข้อเสนอแนะอะไรก็สามารถอีเมลมาพูดคุยกับเราได้ที่ christiansiam@gmail.com