พระเจ้ามีจริงหรือ โลกที่เราอยู่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญหรือมีผู้สร้าง
ความเชื่อ ความหวังใจ และความรัก แต่ความรักใหญ่ที่สุด
1 โครินธ์ 13:13
Facebook Page   

> การอธิษฐานคือ

การอธิษฐานคือ

เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์

การอธิษฐานคืออะไร

การอธิษฐานคือการที่เราพูดคุยกับพระเจ้า พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการอธิษฐาน การอธิษฐานนั้นสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา หลายครั้งเราเห็นพระองค์เสด็จขึ้นภูเขาเพื่ออธิษฐาน (มัทธิว 14:23, มาระโก 6:46, ลูกา 6:12, 9:28) พระเยซูทรงอธิษฐานในที่เปลี่ยว (ลูกา 5:16) ในสวนเกทเสมนี (มัทธิว 26:36 – 46) หรือแม้แต่บนกางเขนพระเยซูก็ทรงอธิษฐาน (ลูกา 23:34, 46) การอธิษฐานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพระเยซู ซึ่งเหล่าสาวกและคนที่อยู่รอบข้างก็สามารถสังเกตได้จนพวกสาวกต้องทูลขอพระเยซูให้สอนพวกเขาอธิษฐาน (ลูกา 11:1)

เมื่อการอธิษฐานคือการพูดคุยกับพระเจ้า แล้วเราจะคุยอะไรกับพระเจ้า? หลายคนเวลาคุยกับพระเจ้าก็มีแต่รายการต่าง ๆ มากมายที่ต้องการจะขอ หรือบางครั้งการอธิษฐานของเราก็เหมือนกับการท่องบทอะไรบางอย่างที่พูดซ้ำ ๆ กันทุกครั้ง และที่แย่ที่สุดคือ บางครั้งที่เราอธิษฐาน เราก็ไม่มั่นใจว่าจะมีใครฟังเราหรือเปล่า หรือว่าเรากำลังพูดอยู่คนเดียวกันแน่?

แท้จริงแล้วการอธิษฐานของคริสเตียนก็คือการที่เรากำลังมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า เหมือนกับการที่เราพูดคุยกับเพื่อน ยิ่งคุยกันมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้จักและสนิทกันมากขึ้น เช่นเดียวกัน ยิ่งเราอธิษฐานมากเท่าไร เราก็ยิ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าให้สนิทกันมากขึ้นเท่านั้น

อยากให้เราลองนึกถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว หรือกับเพื่อน ๆ ถ้าหากเรามีการสื่อสาร มีการพูดคุยที่ไม่ดี ก็จะทำให้มีปัญหากับคู่ครอง มีปัญหาในการไม่เข้าใจลูก ๆ หรือมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อนของเราได้ เช่นเดียวกัน ถ้าหากการอธิษฐานของเรากับพระเจ้ามีแต่การขอ และขอ และขอ เราก็จะไม่มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับพระองค์เลย การสื่อสารต้องมี 2 ทาง คือเราต้องพูดกับพระเจ้า และต้องฟังพระองค์ตรัสกับเราด้วย

การอธิษฐานของพระเยซู

พระเยซูเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องของการอธิษฐาน แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าพระบิดาอยู่แล้ว แต่พระองค์ก็ไม่เคยขาดการอธิษฐานเลย พระองค์มักปลีกตัวไปอธิษฐานกับพระเจ้าเพียงลำพังเสมอ แล้วอะไรที่ทำให้ชีวิตแห่งการอธิษฐานของพระเยซูแตกต่างจากคนอื่น?

การอธิษฐานคืออะไร แล้วเราจะอธิษฐานได้อย่างไร มาเรียนรู้จักการอธิษฐาน แล้วเราจะรู้ว่าเป็นสิทธิพิเศษของผู้เชื่อทุกคนที่ไม่ใช่แค่ได้พูดคุยกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้รับสิทธิในการเป็นบุตรของพระองค์อีกด้วย ที่มา : http://www.freebibleimages.org/illustrations/feeding-5000/

พระเยซูทรงเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ลองนึกภาพถึงคนอิสราเอลในสมัยก่อนที่นับถือพระเจ้าว่าทรงยิ่งใหญ่สูงสุด แม้แต่พระนามของพระเจ้าคนยิวก็ไม่กล้าเอ่ยออกมาตรง ๆ เพราะเป็นการไม่สมควร แต่พระเยซูทรงอธิษฐานโดยเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” ซึ่งภาษาฮิบรูคือ “อับบา” ซึ่งเป็นคำ ๆ เดียวกับที่เด็ก ๆ อิสราเอลใช้เรียกพ่อของเขา แน่นอนว่าการที่พระเยซูทรงเป็นคนแรกที่เรียกพระเจ้าว่า “พ่อ” คงจะทำให้คนยิวในสมัยก่อนตกใจและประหลาดใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าอิสยาห์จะบอกว่าพระเจ้าคือ “พระบิดา” ของคนอิสราเอล (อิสยาห์ 63:16) แต่ก็ไม่มีคนยิวคนไหนกล้าเรียกพระเจ้าแบบกันเองว่า “พ่อ” เหมือนพระเยซู นี่จึงทำให้คำอธิษฐานของพระเยซูแตกต่างและเป็นที่จดจำของคนอื่น ๆ ในสมัยนั้น

พระเยซูไม่ได้เป็นแค่แบบอย่างชีวิตแห่งการอธิษฐานและแบบอย่างความสัมพันธ์กับพระเจ้าในฐานะพระบิดาเท่านั้น แต่พระองค์ยังเชิญชวนเราทุกคนให้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าในแบบเดียวกันด้วย คือให้เราทุกคนมีสิทธิเป็นบุตรของพระเจ้า ให้เราสามารถเรียกพระเจ้าว่า “อับบา” และนี่คือรูปแบบแห่งการอธิษฐานของคริสเตียน คือการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพ่อของเรา และนี่คือจุดเริ่มต้นของการอธิษฐานที่สำคัญที่สุด

เราควรจะอธิษฐานอย่างไร

การอธิษฐานไม่มีสูตรสำเร็จหรือรูปแบบที่แน่นอนว่าถ้าเราพูดแบบนี้ ก็จะต้องได้ผลลัพท์ออกมาแบบนั้น แท้จริงการอธิษฐานคือการมอบความหวังหรือความต้องการของเราไว้กับพระเจ้า และยินยอมให้พระองค์เข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดและความเข้าใจของเราให้สอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระองค์

ใน มัทธิว 6:5 – 15 พระเยซูทรงสอนว่า เมื่ออธิษฐาน อย่าอธิษฐานต่อหน้าคนอื่นเพื่อจะได้หน้าว่าตนเองเป็นคนเคร่งในศาสนา แต่ให้อธิษฐานในที่ลับแล้วพระเจ้าจะประทานบำเหน็จให้ และอย่าพูดซ้ำไปซ้ำมา อย่าคิดว่าพูดมากหลายคำแล้วพระเจ้าจะฟัง เพราะพระเจ้าทรงรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร ให้จำไว้ว่าจุดมุ่งหมายของการอธิษฐานไม่ใช่แค่การขอเท่านั้น แต่เป็นการพูดคุยกับพระเจ้า เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์

การอธิษฐานคืออะไร แล้วเราจะอธิษฐานได้อย่างไร มาเรียนรู้จักการอธิษฐาน แล้วเราจะรู้ว่าเป็นสิทธิพิเศษของผู้เชื่อทุกคนที่ไม่ใช่แค่ได้พูดคุยกับพระเจ้าเป็นการส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้รับสิทธิในการเป็นบุตรของพระองค์อีกด้วย ที่มา : http://www.freebibleimages.org/illustrations/disciples-mission/

พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานว่า เวลาอธิษฐานให้เราเริ่มด้วยคำง่าย ๆ ด้วยการเรียกพระเจ้าว่า “พ่อ” เพราะนี่เป็นการย้ำให้เรารู้ถึงสถานะของเราว่าเราคือลูกที่พระเจ้าทรงรักนั่นเอง จากนั้นพระเยซูทรงเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระเจ้า สิ่งสำคัญคือการให้พระเจ้าเป็นศูนย์กลางของคำอธิษฐาน ไม่ใช่ความต้องการของเรา และตามมาด้วยการขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ เป็นการให้เราตระหนักว่าสิ่งใดในโลกนี้ที่สำคัญสำหรับพระเจ้า และถัดมาจึงเป็นการอธิษฐานทูลขอในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ได้เป็นการผิดอะไรที่ขอ พระคัมภีร์บอกว่าสิ่งดีต่าง ๆ นั้น พระเจ้าจากเบื้องบนเป็นผู้ประทานให้ (ยากอบ 1:17) ต่อมาพระเยซูทรงสอนเราให้สารภาพบาปและยกโทษให้คนอื่น เพราะถ้าเราไม่ยกโทษให้ผู้อื่น พระเจ้าก็จะไม่ยกโทษให้เราด้วยเช่นกัน และสุดท้ายพระเยซูสอนให้เราขอพระเจ้าให้ปกป้องเราจากความผิดความบาป ซึ่งสิ่งนี้เป็นมาจากพระคุณของพระเจ้า (ทิตัส 2:11 – 12)


ความสำเร็จหรือล้มเหลวของการอธิษฐานไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาษาที่เราใช้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเราอธิษฐาน สายตาเราจับจ้องอยู่กับสิ่งใด เรามองที่พระเจ้าพระบิดาและต้องการให้พระองค์ได้รับเกียรติ ให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จหรือไม่ หรือว่าสายตาเรามัวแต่จดจ่ออยู่กับสิ่งอื่น ๆ จับจ้องอยู่แต่กับตัวเอง จดจ่ออยู่กับพระพรหรือสิ่งของที่เราจะได้รับ ให้เราดูชีวิตแห่งการอธิษฐานของพระเยซูเป็นแบบอย่าง แล้วการอธิษฐานของเราจะเป็นเหมือนกับนกพิราบที่โนอาห์ได้ปล่อยออกไป (ปฐมกาล 8:8 – 12) โนอาห์ไม่ได้รับพระพรแค่เมื่อนกพิราบบินกลับมาพร้อมกับคาบใบมะกอกเขียวสดเท่านั้น แตได้รับ่เมื่อมันไม่ได้บินกลับมาหาเขาด้วยเช่นกัน


ค้นหาความจริง

เริ่มต้นการเป็นคริสเตียน

เกี่ยวกับเรา

เว็บสยามคริสเตียน (Siam Christian) เป็นเว็บส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า พระเยซู คริสเตียน หรือคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศไทย หากท่านมีคำถามหรือมีข้อเสนอแนะอะไรก็สามารถอีเมลมาพูดคุยกับเราได้ที่ christiansiam@gmail.com